3 เรื่องที่คนทำงานในยุคนี้ต้องมี…

3 เรื่องที่คนทำงานในยุคนี้ต้องมี…

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ทีมงานของบริษัท I GEAR GEEK ได้เกียรติรับเชิญไปบรรยายให้กับน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ราชภัฏเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมในงานสาย IT”

วันนี้ผมเลยจะมาสรุปในส่วนของเนื้อหาที่ผมได้มีโอกาสแบ่งปันไปให้กับน้อง ๆ เนื่องจากผมมองว่าเนื้อหานี้มีประโยชน์กับคนที่กำลังทำงานในปัจจุบันด้วยครับ ซึ่ง เรื่องพวกนี้นี้เกิดจากสิ่งที่ตนเองได้ทำงานมา และ การศึกษาจากที่ต่าง ๆ ดังนั้นอาจจะมีผิดพลาดน่ะครับ ถ้ามีจุดไหนคลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับสิ่งที่คุณมีข้อมูลก็ลองมาแลกเปลี่ยนไว้ได้ที่นี่เลยครับ

สำหรับเนื้อหาที่แชร์ไปให้กับน้อง ๆ ผมจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันนั่นก็คือ

  1. จุดแข็งของคุณคืออะไร?
  2. ตอนนี้โลกการทำงานของแต่ละบริษัททั้ง IT และ Non-IT กำลังไปทางไหน?
  3. ต้องรับมืออย่างไรบ้างในการได้ไปเจอรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน?

  4. จุดแข็งของคุณคืออะไร?
    คำถามนี้เป็นคำถามยอดนิยมของการสัมภาษณ์งานเลยก็ว่าได้ แทบทุกที่จะถามผู้ถูกสัมภาษณ์

ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมนั้น ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ประมาณ​ 7 ใน 10 คน ไม่สามารถตอบได้ว่าจุดแข็งของตัวเองนั้นคืออะไร… ถ้าคุณอยากทดสอบก็ลองถามตัวคุณเองดูครับ ถ้าคุณตอบไม่ได้ภายใน 1 นาที นั่นก็คือคุณกำลังเป็นคนกลุ่มนั้นเช่นกัน

เอาจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ เพราะเมื่อก่อนตอนผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ก็เป็นแบบนี้ คือมองไปทางไหนก็ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดเรื่องไหน แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสทำงานและพูดคุยกับคนที่ทำงานด้วยกับเรา ทำให้ผมพอจะทราบว่าจุดแข็งผมมีอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งนี้มันคือส่ิงสำคัญมากครับ มันเปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยนำทางเราเลย ว่าต่อไป 3–5 ปี หรือถ้ามองไปยาวระยะ 10 ปี คุณจะกำลังทำอะไรอยู่ และ สิ่งนี้คือส่ิงที่คนทำงานด้วยกันกับเรามักมองเห็นแต่เราดั๊นมองไม่เห็นมันทั้ง ๆ ที่เราใช้ความสามารถนี้ในทุกวัน ดังนั้นสิ่งนี้คือโจทย์ของเราที่สำคัญอย่างมากในการมองหา “จุดแข็ง” ของเราเอง

มีการวิจัยน่ะครับว่า ตัวเรามีเวลาที่เราใช้ในแต่ละวันนั้น เราหมดเวลาไป 95% กับการสนใจกับสิ่งรอบตัว ซึ่งจะพบว่าเวลาที่เราให้ความสนใจเรื่องของตัวเองนั้นมีไม่ถึง 10% ดังนั้นลองหยุดทุกอย่าง แล้วลองมองกลับมาที่ตัวเองครับว่าอะไรคือจุดแข็งของคุณเอง

ช่วงปีที่ผ่านมา ผมทบทวนเรื่องนี้ในหลายครั้งจนพบได้พบกับการทดสอบนี้ที่พอจะตรงกับตัวผมและทำให้เข้าใจมากย่ิงขึ้น ผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนลองไปหาหนังสือ เพื่อเริ่มทำแบบทดสอบเบื้องต้น จากนั้นลองเช็คกับเพื่อนร่วมงานของเราว่ามีจุดไหนที่เรามีแล้ว หรือ ยังมีมุมไหนที่มองไม่เห็นอีกไหม เพื่อที่จะได้นำเอาสิ่งนี้มาปรับปรุงต่อไปในอนาคตต่อไป หนังสือที่ผมอยากแนะนำเลยก็คือ Strengthsfinder เจาะจุดแข็ง 2.0 (อ่านเพิ่มเติม)

2. งานในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้วไม่ว่าจะสาย IT หรือ Non-IT

คุณจะเริ่มเห็นงานสายใหม่ ๆ ที่เกิดจากการผสมผสาน Skill ที่หลากหลายไว้ด้วยกัน ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องทำงานเดิมไปตลอดชีวิตแล้วน่ะครับ จุดสำคัญที่สุดนั่นก็คือคุณต้องรู้ว่าจะเลือกหยิบเอา Skill หรือ ความสามารถที่คุณมีมาทำเป็นอาชีพใหม่ ๆ ด้วยตนเองได้อย่างไร

แนวคิดมาจากบทความนี้ : https://blog.prototypr.io/job-titles-and-mixtapes-90ac6a5118f6

เมื่อดูจากรูปด้านบนนี้ (ฝั่งซ้ายมือ) ในอดีตเรามองว่างานของเราเปรียบเสมือน CD เพลง ซึ่งล้วนอัดแน่นไปด้วย Skill หรือ เพลง ที่เราต้องมีและมันก็มีอยู่อย่างจำกัดด้วย มันไม่สามารถเพิ่มเติมหรือลดลงได้ในแต่ละงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางเลือกในสายงานเรามันน้อยมาก ๆ ในอดีต

แต่ถ้ามองปัจจุบันนั้น (รูปฝั่งขวามือ) เราจะเริ่มเห็นอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น อาทิ Youtuber หรือ Influencer ที่ล้วนมาจากคนธรรมดาแบบเราเป็นต้น มันก็เปรียบเสมือนการที่เรามี Skill ของเราอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว (เปรียบเสมือนเพลงในคลังของเรา)

วันนึงเราอาจจะอยากจัดมันออกมาเป็น Playlist ที่เหมาะกับตัวงานนั้น ๆ โดยการเลือกเอาเพลงของเรา (Skill) ไปใส่ ยกตัวอย่างที่ตัวของผมเองที่ได้มีโอกาสทำงานในสายต่าง ๆ ซึ่งผมก็แทบไม่เคยคาดคิดมาก่อนในชีวิตว่าจะได้มีโอกาสทำ โดยผมได้เลือกเอา Skill ที่ผมมีอยู่แล้ว หรือ Skill ที่อยากจะสร้างเพิ่ม มาปรับใช้ในแต่ละตัวงาน โดยงานที่ผมได้ทำก็มีทั้ง Developer, Agile Coach, Technical Coach, R&D developer และ Co-founder บริษัทของตนเอง ซึ่งจะเห็นว่าในหลายงานนั่นมันก็เพิ่งมีความต้องการสูงขึ้นในเวลาไม่เกิน 5 ปีมานี่เอง ดังนั้น อาชีพมันหลากหลายมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกไปทำสิ่งไหนในอนาคต

ซึ่งถ้ามองกลับมาที่การคาดหวังของบริษัทแล้ว เราจะพบว่าการบริหารคนมันได้เปลี่ยนไปเช่นกัน หลายที่เริ่มไปโฟกัสในการพัฒนา “คน” ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดขององค์กร ดังนั้น หลายบริษัทจึงให้โอกาสคนทำงาน ได้ทดลองทำงานใหม่ ๆ ตามความสามารถที่คน คนนั้นสนใจ หรือ มีสามารถทำออกมาได้ดี (ผมโชคดีมากครับ ที่ได้ทำงานที่แรกกับบริษัทที่คอยส่งเสริมความสามารถของผมอย่างเต็มที่ นั่นก็คือ THiNKNET)

ดังนั้นตอนนี้เราต้องมองตัวเองให้ออกว่า จุดแข็งของเรามีอะไรบ้าง และ Skill ไหนที่เราพอมีหรืออยากสร้างขึ้นมา เพื่อที่เราจะได้ทำสิ่งนั้นให้โดดเด่นขึ้นมา ทำให้คนรอบข้างของเราสามารถส่งเสริมกันได้ถูกจุด เพราะ คนไม่ใช่เครื่องจักรที่จะทำหน้าที่ใด หน้าที่นึงไปตลอดชีวิต แต่ละคนล้วนมีความถนัดหรือส่ิงที่สนใจแตกต่างกันไป สิ่งนี้จะทำให้เกิดส่ิงใหม่ ๆ ได้ในองค์กรในระยะยาว

ให้มองหางานที่เราสามารถจัด Skill ได้ด้วยตนเอง เพราะ คุณจะมีความสุขกับการทำงานทุกวัน เนื่องจากมันคือ Playlist ที่คุณสร้างขึ้นเอง หรือ อีกนัยคือก็คืองานที่คุณสร้างขึ้นเองนั่นเอง

แบบนี้การทำงานของเราก็ดูเป็นเป็ดซิ

ถ้าแบบนี้การทำงานของเรามันก็ดูเป็นเป็ดซิ นั่นคือการที่ เป็ดสามารถว่ายน้ำได้ แต่ก็ไม่ได้ดีนัก, บินได้ แต่ก็ไม่นาน ได้ระยะไม่สูงนัก และ เดินบนบกได้ แต่ก็วิ่งเร็วไม่ได้อีก

.

.

.

ใช่ครับ…

คุณเข้าใจถูกแล้ว ที่คุณต้องพยายามทำตัวเป็น เป็ด ให้ได้ในยุคนี้

แต่คุณต้องเป็น เป็ด ที่มีความเป็น T-shaped model อยู่ นั่นก็คือ คุณมีสิ่งที่เก่งหรือถนัดในเรื่องใดเรื่องนึงได้ แต่ก็ยังไม่ปิดโอกาสของตัวเองที่จะเรียนรู้ให้สามารถทำงานในด้านอื่น ๆ ได้

จากรูปด้านบนนั้นแนวตั้งคือเชิงลึก ส่วนแนวนอนนั้นก็คือเชิงกว้างที่เราต้องขยายออกไป มันจะทำให้ส่งผลดีกับเราในอนาคตได้

ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากครับ ในการทำงานในรูปแบบทีมปัจจุบันนี้ อย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นเลย ในเรื่องของ จุดแข็ง ถ้ามองเปรียบเทียบคือการที่ทุกคนในทีมนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปพอได้มาทำงานร่วมกันก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้งานออกมาได้อย่างมีคุณภาพสูงที่สุดเท่าที่แต่ละคนเชี่ยวชาญได้

จากภาพด้านบนจะเห็นว่าในการทำงานปัจจุบัน เราจะไม่ได้นั่งทำงานแค่การเขียนโปรแกรมอย่างเดียวแล้ว เราต้องมีความรู้ในแนวกว้างด้วย เพื่อสามารถทำงานร่วมกันกับคนอื่นภายในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรคาดหวังอะไรจากเรา?

แน่นอนครับว่าทุกองค์กรก็อยากได้คนมาร่วมสร้าง ซึ่งเป้าหมายแต่ละองค์กรนั้นก็แตกต่างกันออกไป ส่ิงนึงที่ผมมองว่ามันคือส่ิงที่องค์กรอยากไปให้ถึงจุดนั้นมันมีแค่ 4 ข้อครับ โดยผมได้อิงจากหลักการณ์ Heart of Agile นั่นก็คือ

  1. การที่เราสามารถปล่อยงานออกมาเพื่อทดลองได้บ่อย ๆ
  2. การที่เราสามารถรับ Feedback จากผู้ใช้งานหรือคนรอบด้านได้
  3. การที่เราสามารถนำเอา Feedback นั้นมาปรับปรุงให้สิ่งที่เราทำมันดียิ่งขึ้น
  4. การร่วมไม้ร่วมมือกันภายในทีมงาน

ซึ่งหลายที่ล้วนอยากทำให้เกิดส่ิงเหล่านี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนทางที่จะทำให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องออกไปเจอในการทำงานนั่นก็คือการไปร่วมสร้างให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมานั่นเอง

3. แล้วจะรับมือยังไงดี

แนวคิดที่จะสามารถเอาตัวรอดในการทำงานปัจจุบันและอนาคตได้ ผมมองว่าตัวแนวคิดของคุณ Stephen Covey ของหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People สามารถนำเอามาใช้ได้ หากเรามีการทำแนวคิด 7 ข้อนี้อย่างสม่ำเสมอ เราจะไม่ต้องกลัวอนาคตต่อไปข้างหน้าเลยครับ ลองอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ไว้มีโอกาสครั้งถัดไปผมจะมาเล่าเรื่องนี้แบบละเอียดและสิ่งไหนบ้างที่ผมนำเอามาปรับใช้ในการทำงานตอนนี้

สรุป ต่อให้ในอนาคต “AI” จะเข้ามาทำงานแทนที่ “คน” แต่ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจ และ เริ่มลงมือจาก 3 ข้อที่ผมได้แชร์ไว้ด้านบนนี้ ผมมองว่าโลกอนาคตมันจะไม่น่ากลัวเลย เพราะ คุณจะได้สนุกกับสิ่งที่คุณมี และ สิ่งที่คุณอยากทำอย่างแน่นอน ซึ่งการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มจากอาชีพที่มีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบันนี้

อะไรคือเพลงของคุณบ้าง?

อะไรคือ Playlist ที่คุณมีอยู่ หรือ อยากสร้างใหม่บ้าง?

สำหรับหัวข้ออื่น ๆ เดี๋ยวจะมีทีมงานของเรามาแชร์ให้ฟังกันอีกน่ะครับ

อ้างอิง

Job titles and mixtapes
Redesigning the job title in the age of Spotify
blog.prototypr.io

T-shaped skills - Wikipedia
The concept of T-shaped skills, or T-shaped persons is a metaphor used in job recruitment to describe the abilities of…
en.wikipedia.org

StrengthsFinder 2.0 | Gallup
StrengthsFinder is now CliftonStrengths - Learn how to discover your 34 theme and how to register your book code.
gallupstrengthscenter.com

The 7 Habits of Highly Effective People - Wikipedia
The 7 Habits of Highly Effective People , first published in 1989, is a business and self-help book written by Stephen…
en.wikipedia.org

Pingback : https://nitip.at/2018/09/21/3-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%99/